ปราศจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในห้องเรียนแห่งนั้น

เดินไปเจอหนังสือเล่มนี้ในห้องสมุด “ทุ่งกุลา : อาณาจักรเกลือ 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม” เห็นแล้วนึกถึงการเรียนวิชาสังคมศึกษา ว่าด้วยประวัติศาสตร์เมื่อครั้งยังใส่กางเกงขาสั้นตัดผมเกรียนในห้องเรียนแห่งนั้น

เราคุยกันเรื่องอาณาจักรกรีก, โรมัน, ออตโตมัน ฯลฯ

ส่วนตำราแบบสยามๆ ที่บันทึกประวัติศาสตร์ผูกขาดแต่ด้านเดียวนั้น อริราชศัตรูคือเพื่อนใกล้เรือนเคียง ส่วนสยามเรานั้นถูกรังแกแต่ฝ่ายเดียว ตำราเหล่านั้นก็มิกล่าวถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเช่นกัน

เว้นเสียแต่มันจะมีนัยสำคัญกับความภาคภูมิใจในราชอาณาจักร เฉกเช่น หมู่บ้านบางระจัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แนวทางการศึกษายุคใหม่ พยายามให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น ปัญหาคือ มันมักถูกกล่าวถึงในระดับชั้นอุดมศึกษาเสียมากกว่าเริ่มตั้งแต่ยังเยาว์วัยในชั้นเรียน

เมื่อไม่เข้าใจ ไม่สนใจมันตั้งแต่ต้น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงถูกพูดในกลุ่มนิสิตนักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ หรือไม่ก็สายพัฒนาชุมชน ศาสตร์แห่งการเข้าใจรากเหง้าของตนเองและผู้อื่นจึงติดแหง็กอยู่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในยุคหลังกำลังเริ่มถูกจัดเก็บชำระมากขึ้น แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการ “ชำระความรู้สึก” ที่เคยถูกฝึกปลูกมาอย่างยาวนานว่าเราเป็นไทย ว่าเราเป็นสยาม ว่าเราเป็นอาณาจักรเดียว รักใคร่กลมเกลียว เป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่ต้น และบรรพบุรุษในวงเล็บว่า “โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ” ได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อแลกมา

สิ่งเหล่านี้เป็นมายาผ่านตำราเรียนที่ฝังปลูกถูกๆ ผิดๆ มาอย่างยาวนาน กระทั่งกลายเป็นความคลั่งชาติอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ผมเคยถามครูผู้สอนในห้องเรียนว่า ทำไมหนังสือเรียนและครูคนแล้วคนเล่าจึงเล่าประวัติศาสตร์ไทยว่าถูกพม่ายกทัพมาตีอยู่ร่ำไป เราเคยยกทัพไปตีใครบ้างหรือไม่ เราเคยไปฆ่าอาณาจักรอื่นบ้างหรือไม่ เราเคยไปเผาอาณาจักรอื่นบ้างหรือไม่ แล้วคนในอาณาจักรเหล่านั้นรู้สึกอย่างไรกับอาณาจักรสยามเดิมบ้าง?

ผมจำได้ว่าวันนั้นครูไม่มีคำตอบให้

เป็นนักเขียนเพียงคนเดียวของเว็บไซต์นี้ (แหงละ) เป็นมนุษย์ที่ชอบบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เนื่องจากไม่ถนัดในการจดใส่กระดาษ จึงมักเขียนไว้ในโลกออนไลน์ บางเรื่องผิด บางเรื่องถูก แต่บันทึกความทรงจำจะช่วยตักเตือนเรา