ส.ป.ก.4-01 ความเป็นจริง ณ พ.ศ. ปัจจุบัน

ในกลุ่มคนที่ติดตามประเด็นที่ดิน ต่างรู้ข้อมูลเรื่องการกระจุกและกระจายตัวของที่ดิน ต่างรู้ว่าคนส่วนน้อยนิด 0.007% ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศ ว่าเป็นคนกลุ่มใดบ้าง

ข้อมูลเหล่านั้นมีหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อได้ แต่พูดไม่ได้ เหตุผลที่พูดไม่ได้ถึงรู้ก็บอกไม่ได้อีกเช่นกัน

นั่นคือเรื่องของที่ดินในระดับประเทศ ที่เป็นปัญหาคาราคาซังจุกอกอยู่

แต่ข้อมูลอีกด้านที่ยิ่งได้ฟังได้ติดตาม ยิ่งน่าตกใจก็คือ นโยบาย ส.ป.ก. 4-01 ที่ไม่อนุญาตให้ซื้อขายที่ดิน หากมีก็ให้ถือเป็นโมฆะ ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ต้องโอน แบ่งแยก และตกทอดทางมรดกเท่านั้น

นโยบายนี้คือความพยายามกระจายที่ดินและป้องกันการเปลี่ยนมือของที่ดิน โดยเฉพาะจากคนจนไปสู่มือคนรวยนั้น ในวันนี้เริ่มมีปัญหา ไม่ใช่มีปัญหาเชิงนโยบาย แต่มีปัญหาในการปฏิบัติ

ในช่วงหลังมานี้ผมเริ่มพบว่า มีการขายที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 กันเฉยเลย และนับวันยิ่งพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับหมู่บ้าน ชุมชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด

ที่ดินบางแปลง ชื่อในเอกสารสิทธิเป็นของอีกคน แต่เจ้าของที่แท้จริงนั้นเป็นอีกคน และที่ดินบางผืนเปลี่ยนเจ้าของมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 มือ

นั่นหมายความว่า มีการซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. มาแล้ว 5 ครั้ง และทุกครั้งราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราการต่อรองและทำเลของที่นั้นๆ กระทั่งที่สุด ผู้ถือครองสิทธิในทางปฏิบัติผ่านการซื้อขายที่ดินมาแล้ว คือกลุ่มคนรวย หรือคนที่มีฐานะในพื้นที่นั้นๆ แทน

แน่ละว่า แม้ในทางทฤษฎีการซื้อขายดังกล่าวย่อมถือเป็นโมฆะในที่สุด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คนในชุมชนย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า ได้ขายที่ดินไปให้ใครแล้ว และที่ดินเป็นของใครแล้ว

ครั้นจะไปหัวหมอบอกว่า ที่ดินนี้มีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นชื่อของตน และการซื้อขายที่ผ่านมาถือเป็นโมฆะนั้น ในระดับหมู่บ้าน ชุมชน ไม่ทำกันอยู่แล้ว เหตุผลนอกจากเป็นการยึดคำมั่นสัญญาต่อกันแล้ว ส่วนหนึ่งยังไม่ตกผลึกแนวคิดความสำคัญของการกระจายที่ดินอีกด้วย หรือหากจะรั้นหัวหมอจริงๆ ก็อาจได้ตอบแทนเป็นลูกตะกั่วฝังร่างลงผืนดินมรดกนั้นแทนก็เป็นได้

“ที่ดิน = สินค้า” แนวคิดพื้นฐานยังคงเป็นเช่นนั้น

ปัญหาที่ตามมา หากเรื่องนี้ยังไม่ถูกทำให้สำคัญในทางปฏิบัติก็คือ การกระจายตัวของที่ดินจะไปกระจุกอยู่ในกลุ่มคนที่มีฐานะทางการเงินเช่นเคย แม้จะไม่ใช่กลุ่มชนชั้นอำมาตย์ นายทุน แต่กลุ่มคนรวยหน้าใหม่ในต่างจังหวัดจะเป็นผู้ถือครองที่ดินนั้นแทน

และผลของมันก็จะทำให้ตัวเลขเจ้าของที่ดินอาจกระเถิบจาก 0.007% เป็น 0.0071% กระนั้นก็เป็นการกระจายตัวของคนรวยที่เพิ่มมากขึ้นในอัตราน้อยนิด แต่คนจนจะยิ่งยากจนมากกว่าเดิม เพราะสิทธิทำกินผืนดินในทางปฏิบัตินั้นไม่มี ตัวเลือกในการทำมาหากินยิ่งน้อยกว่าเดิม

ไหนจะลูก หลาน เหลน โหลน ที่จะเกิดเติบโตมาในอนาคตอีก เขาเหล่านั้นอาจจะไม่มีแม้กระทั่งที่ซุกหัวนอนก็เป็นได้ เพราะมรดกที่มีอยู่น้อยนิดถูกแบ่งหารด้วยจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น ผลลัพธ์อาจเหลือเพียงพื้นที่เท่าความสูง ความกว้างของลำตัวด้วยซ้ำ

ครั้นจะไปซื้อที่ดินนั้นคืนจากผู้ถือครองปัจจุบัน ราคาก็จะถีบสูงมากขึ้นกระทั่งเจ้าของเอกสารสิทธิที่แท้จริงไม่มีทางเอื้อมถึง เพราะว่ากันว่าราคาที่ดินในต่างจังหวัดขณะนี้ ว่ากันด้วยหลัก 100,000 บาท/ไร่ เป็นอย่างน้อยเสียแล้ว

บางผืนตอนขายออกมาทอดแรกยังราคาไม่ถึงครึ่งนี้เลยด้วยซ้ำ การจะซื้อคืนจึงเป็นเรื่องยากที่อาจต้องเอาเท้าก่ายหน้าผากแทน

หากจะนำข้อกฎหมายมากล่าวอ้างว่า “โมฆะ” ที่ดินนั้นต้องกลับคืนสู่ผู้มีชื่อบนเอกสาร ก็เห็นจะต้องไล่รื้อกันทั้งบาง เพราะอย่างที่บอกว่าผืนดินจำนวนไม่น้อยนั้นถูกเปลี่ยนผ่านมาแล้วหลายมือมากๆ

การกลับไปตรวจสอบเพื่อมอบสิทธิให้กับเจ้าของที่แท้จริง จึงไม่ต่างจากการไปสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ แม้จะพยายามไกล่เกลี่ยให้ละมุนละม่อมที่สุดก็เห็นว่ายากและคาราคาซังเป็นอย่างยิ่ง

กระนั้นหากไม่ทำอะไรเสียเลย ก็ยิ่งจะเพิ่มความยุ่งยากมากกว่าเดิมเช่นกัน

และจากปัญหาที่ดูเหมือนหยุมหยิมในระดับชุมชนเช่นนี้ ก็จะกลายเป็นปัญหาโครงสร้างทางสังคมขนาดใหญ่ ที่คนจนจะถูกถีบห่างมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นผู้จนตรอกในที่ดินทำกินในที่สุด

เพราะนอกจากกลุ่มทุน กลุ่มอำมาตย์เดิมจะไม่ยอมคายที่ดินแล้ว กลุ่มคนผู้มีสิทธิทำกินน้อยนิดยังเลือกที่จะปล่อยที่ดินให้หลุดมือตนเองด้วย

อย่าลืมว่าที่ดินเป็นทุนเพียงไม่กี่อย่างในโลก ที่ไม่มีทางงอกเพิ่มไปมากกว่านี้ ขณะที่ทายาทสเปิร์มและรังไข่ของมนุษย์นั้น มีแต่จะเพิ่มขึ้นอเนกอนันต์

เครื่องเคียงจากวิกิ

ส.ป.ก. 4-01 คือเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีหลักการสำคัญว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน [1] เขตปฏิรูปที่ดินหมายถึง ที่ดินที่เป็นชุมชนเต็มรูปแบบมาก่อน ที่ดินที่เป็นไร่สวนทำกินของราษฎรตั้งแต่บรรพบุรุษ และที่ดินป่าเสื่อมโทรม หมดสภาพป่าและไม่สามารถฟื้นสภาพป่าได้อีก ไม่รวมถึงป่าในเขตอนุรักษ์เช่นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ หรือเขตต้นน้ำลำธาร [1] หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 คือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทย

เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายที่ดิน หากมีการซื้อขายในขณะที่เอกสารสิทธินี้ยังมีผลอยู่จะเป็นโมฆะ [2] แต่สามารถโอน แบ่งแยก และตกทอดทางมรดกให้แก่บุคคลในครอบครัวได้แก่ สามีภรรยา บุตร บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา และหลาน สามารถเช่าหรือเช่าซื้อเพื่อเกษตรกรรม (ไม่อนุญาตให้เช่าเพื่อจุดประสงค์อื่น) ไม่สามารถจดทะเบียนจำนองได้ เว้นแต่เป็นโครงการของรัฐบาลที่อนุญาตให้ใช้เอกสารสิทธิเป็นประกัน สิทธิในที่ดินยังคงเป็นของรัฐ ประชาชนสามารถคืนที่ดินให้รัฐหากไม่ต้องการ และรัฐสามารถเรียกคืนที่ดินได้หากตรวจสอบพบว่าประชาชนมิได้ใช้ทำกิน

เป็นนักเขียนเพียงคนเดียวของเว็บไซต์นี้ (แหงละ) เป็นมนุษย์ที่ชอบบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เนื่องจากไม่ถนัดในการจดใส่กระดาษ จึงมักเขียนไว้ในโลกออนไลน์ บางเรื่องผิด บางเรื่องถูก แต่บันทึกความทรงจำจะช่วยตักเตือนเรา