ศาลปกครองไม่รับฟ้องกรณีสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส

image

มิตรสหายที่รัก

เนิ่นนานมาแล้วที่ผมได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พิจารณาไต่สวนกระบวนการสรรหา “กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์” อดีตผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เข้าดำรงตำแห่งผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส มิชอบด้วยกฎหมาย

โดยฟ้องประธานคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ

และกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ทั้ง 8 คน คือ 1. นางสมศรี หาญอนันทสุข 2. นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ 3. นายสมพันธ์ เตชะอธิก 4. นางปราณี ทินกร 5. นางลดาวัลย์ บัวเอี่ยม 6. นายธีรภัทร สงวนกชกร 7. นางสาวรุ่งมณี เมฆโสภณ และ 8. นายพิพัทธ์ ชนะสงคราม

นอกจากนี้ยังฟ้องคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย คือ 1. นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ 2. นางสาวบุญยืน ศิริธรรม 3. นายไพโรจน์ พลเพชร 4. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ 5. นายโกศล สงเนียม และ 6. นายบุญอยู่ ขอพรประเสริฐ

รวมทั้งสิ้น 15 คน โดยคำร้องดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนกระบวนการสรรหาและคำสั้งแต่งตั้งนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

ที่สุดศาลปกครองได้พิจารณาและมีคำสั่งออกมาแล้วครับ

โดยศาลได้ตรวจพิจารณาเอกสารสำนวนคดี รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว

กรณีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า คำฟ้องนี้เป็น “คำฟ้องที่ศาลรับไว้พิจารณาได้หรือไม่” โดยมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า “ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรืออาจเดือดร้อน หรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำของผู้ฟ้องคดีทั้ง 15 คน หรือไม่”

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เห็นว่า ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การฯ การกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง 15 คน ที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นจึงมิได้ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ประกอบกับคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนกระบวนการสรรหา และคำสั่งแต่งตั้งนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการองค์การฯ มิได้เป็นการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหาย หรือยุติข้อโต้แย้งในคดีนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ตามาตรา 42 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ย้ำในวรรคตอนสำคัญอีกครั้งคือ

ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ผลการพิจารณาเป็นเช่นนั้น แน่ละโดยสำนึกแห่งสามัญผมย่อมรู้มีความรู้สึกรู้สาบางประการต่อผลการตัดสินนี้ ด้วยเพราะในเบื้องลึกกว่านั้น ผมยังหวังว่าจะเห็นการพิพากษาต่อคดีในประเด็นสำคัญคือ การสรรหานั้นเป็นไปโดยชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งหากอยู่ในขั้นนั้น แม้จะออกหัวหรือก้อยก็จะสร้างความกระจ่างและกำหนดบรรทัดฐานต่อเรื่องนี้ในอนาคต

แต่กระบวนการไต่สวนก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อศาลพิจารณาในขั้นแรกว่า ผมไม่มีสิทธิฟ้องคดี อันเนื่องมาจากไม่ได้เป็นผู้เสียหายจากกระบวนการสรรหาดังกล่าว เพราะไม่ได้เป็นผู้ร่วมสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. (ไทยพีบีเอส)

ก็เป็นเช่นนั้น

ต่อให้ผลของการดำเนินการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในทุกชั้นขั้นตอนนั้น ที่สุดแล้วไปได้ไม่ถึงฝั่ง แต่ก็พยายามอย่างเต็มกำลังแล้วที่จะแสวงหาช่องทางเพื่อออกจากม่านหมอกแห่งความสงสัย

ด้วยรัก
โกวิท โพธิสาร
7 กรกฎาคม 2559

เป็นนักเขียนเพียงคนเดียวของเว็บไซต์นี้ (แหงละ) เป็นมนุษย์ที่ชอบบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เนื่องจากไม่ถนัดในการจดใส่กระดาษ จึงมักเขียนไว้ในโลกออนไลน์ บางเรื่องผิด บางเรื่องถูก แต่บันทึกความทรงจำจะช่วยตักเตือนเรา