งดตอบโจทย์ คำถามยังอยู่

การไม่มาตามนัดของรายการตอบโจทย์ เมื่อเวลา 21.45 น. ของวานนี้กลายเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงอย่างกว้างขวาง กับคำถามที่แม้จะได้รับการชี้แจงจากไทยพีบีเอสเองก็ดูเหมือนจะไม่กระจ่างอย่างที่ควร ถึงเหตุจำเป็นอย่างที่กล่าวอ้างในการระงับการออกอากาศว่า “อาจทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น”

เพราะสถานการณ์ที่มีกลุ่มคนไทยรักชาติมาเยือนถึงสำนักงาน พร้อมกับข้อเรียกร้องให้งดการออกอากาศรายการตอบโจทย์ว่าด้วยการคุยเรื่องมาตรา 112 เทปสุดท้ายของประเด็นนี้ ด้วยเหตุผลของทางกลุ่มเห็นว่า “เป็นการพาดพิงสถาบันฯ อย่างไม่เหมาะสม”

แน่ละ รายการก็ถูกระงับไว้ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว และไม่กี่ชั่วโมงก่อนเขียนบทความนี้ทีมงานผลิตรายการก็ประกาศยุติการออกอากาศโดยถาวรด้วยเหตุผลคือ “สละรายการ รักษาหลักการ”

ประเด็นที่ต้องนำมาถกกันต่อคือเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการข้างหลังก่อนมีคำสั่งแน่ชัดว่า คืนวันที่ 15 มีนาคม นั้นให้ระงับการออกอากาศ

การมีกลุ่มคนมาสะท้อนความเห็นถึงสำนักงานนั่นดีอยู่แล้ว ส่วนตัวไม่มองว่ามีปัญหาอะไรที่จะมีใครมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการผลิตรายการโทรทัศน์ เพราะกระบวนการฟีดแบ็คคือส่วนสำคัญของคนทำสื่อที่ต้องเปิดใจรับฟัง ยิ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวเช่น มาตรา 112 ที่รายการตอบโจทย์ได้ผลิตมานั้นก็ยิ่งไม่แปลกใจที่จะเห็นภาพที่เกิดขึ้นเช่นเมื่อวานที่ผ่านมา และยิ่งข้อเรียกร้องให้ระงับการออกอากาศนั้นยิ่งคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าต้องเกิด

เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า “มาตรา 112” ถูกหยิบไปถกตรงไหนเป็นได้วงแตกกันง่ายๆ

แต่กับเหตุการณ์เมื่อ 15 มีนาคม นี้ ที่ข้อเรียกร้องให้ระงับการออกอากาศ “เป็นผล” นั้นออกจะเกินความคาดหมายไปเยอะนัก เยอะจนต้องทบทวนและตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเพราะอะไร

กระบวนการที่มาของการผลิตนั้นจะถกเถียงอยู่เบื้องหลังอย่างไรสุดจะทราบ แต่การที่ประเด็นนี้ถูกนำเสนอต่อกรรมการนโยบายและเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ว่าออกอากาศได้ย่อมการันตีเนื้อหาแล้วว่าไม่ได้มีปัญหาขัดต่อจริยธรรมใดๆ ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส

แต่เหตุผลที่ไทยพีบีเอสนำมาชี้แจงถึงเหตุผลการระงับออกอากาศว่า

“…ในการประเมินสถานการณ์ เวลาประมาณ 21.00 น. วันที่ 15 มีนาคม 2556 พบว่าอาจมีการขยายความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น คณะผู้บริหารพิจารณาภายใต้หลักการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม องค์การฯ จะต้องไม่สร้างปัจจัยความขัดแย้งเพิ่มเติม หรือเป็นคู่ขัดแย้งเอง นำมาสู่การตัดสินใจพิจารณาทบทวนการนำเสนอประเด็นอ่อนไหวอย่างรอบคอบอีกครั้ง นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การฯ จึงได้มีข้อเสนอให้นำเรื่องร้องเรียนของกลุ่มประชาชนดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ตามมาตรา 46 พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ”

กรณีนี้ต้องได้รับการอธิบายขยายความ ว่าผู้บริหารประเมินจากอะไร อย่างไร ว่าอาจนำไปสู่การขยายความขัดแย้งรุนแรง

เพราะกลุ่มคนประมาณ 30 คนที่มาเรียกร้องนั้น แม้จะไม่ได้เป็นมิตรหรือพร้อมจะรับฟังเท่าใดนัก แต่ก็ไม่เห็นท่าทีของการคุกคามอย่างชัดเจน และที่มากกว่านั้นคือได้มีการเจรจากับกลุ่มคนไทยรักชาติได้ให้ข้อมูลอย่างรอบด้านเพียงพอและตรงตามจุดประสงค์ของการทำรายการนี้ขึ้นมาหรือไม่

ที่ถามใน 2 ประเด็นหลักนี้เพื่อหวังคำตอบในเชิงการอธิบายที่จะสะท้อนให้เห็นความพยายามในการคลี่คลายสถานการณ์ บนปลายทางที่รายการไม่ควรจะถูกระงับ เพราะนั่นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญตามหลักประชาธิปไตยอันเป็นสากล

แน่ละ “การระงับออกอากาศด้วยตนเอง” อันเนื่องมาจากมีข้อร้องเรียนจากประชาชนเป็นไปโดย พรบ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 สามารถกระทำได้ โดยต่อจากนี้ผลของการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์จะออกมาให้ยกเลิก แก้ไข เพิ่มเติมความรอบด้าน หรือยกเลิกเทปนี้ไปเลย จะเป็นอย่างไรยังต้องติดตาม

แต่ที่แน่ๆ การชี้แจงขยายความยังต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระบวนการตรวจสอบตัวเองต้องอยู่ในระนาบเดียวกันกับตรวจสอบผู้อื่น เพราะนี่จะสร้างบรรทัดฐานของการทำงานว่า “ควรทำในสิ่งที่แตกต่าง” หรือทำรายการแบบ “Play Safe”

นกกระดาษ

เป็นนักเขียนเพียงคนเดียวของเว็บไซต์นี้ (แหงละ) เป็นมนุษย์ที่ชอบบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เนื่องจากไม่ถนัดในการจดใส่กระดาษ จึงมักเขียนไว้ในโลกออนไลน์ บางเรื่องผิด บางเรื่องถูก แต่บันทึกความทรงจำจะช่วยตักเตือนเรา